วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รัก


รักกล้อง
รักการถ่ายภาพ
รักมหาวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การจัดทำโครงการและแผนการสอน

การจัดทำโครงการและแผนการสอน

การวางแผนการสอน เป็นภารกิจสำคัญของครูผู้สอน ทำให้ผู้สอนทราบล่วงหน้าว่าจะสอนอะไร เพื่อจุดประสงค์ใด สอนอย่างใด ใช้สื่ออะไร และวัดผลประเมินผลโดยวิธีใดเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอน การที่ผู้สอนได้วางแผนการสอนอย่างถูกต้องตามหลักการย่อมช่วยให้เกิดความมั่นใจในการสอน ทำให้สอนได้ครอบคลุมเนื้อหา สอนอย่างมีแนวทางและมีเป้าหมาย และเป็นการสอนที่ให้คุณค่าแก่ผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ลักษณะ ขั้นตอนการจัดทำและหลักการวางแผนการสอน ตลอดจนลักษณะของแผนการสอนที่ดี เพื่อส่งผลให้การเรียนการสอนดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นการจัดวางโปรแกรมการสอนทั้งหมดในวิชาใดวิชาหนึ่งไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนได้จัดดำเนินกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่วางไว้ ดังนั้นในแผนการสอนจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ เช่น มีจุดประสงค์ความคิดรวบยอด/หลักการ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดผล/ประเมินผล และจำนวนคาบเวลาที่ใช้สอน ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจัดรวมไว้อย่างมีระบบระเบียบในแผนการสอน

การวางแผนการสอนเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนสอน เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจปัญหาการสำรวจทรัพยากรการวิเคราะห์เนื้อหาการวิเคราะห์ผู้เรียนการกำหนดมโนมติ วัตถุประสงค์ กิจกรรมการเรียน สื่อการสอน และการประเมินผล แล้วเขียนแผนออกมาในรูปของแผนการสอน

การวางแผนการสอน คือกิจกรรมในการคิดและการทำของครูก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมาย การคัดเลือกเนื้อหา การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน การเลือกตำรา เอกสาร อุปกรณ์ การประเมินผล และการพิมพ์ประมวลการสอนรายวิชา
จากความหมายดังกล่าวข้างต้นพิจารณาได้ว่า เป็นความหมายที่อธิบายถึงกิจกรรมและข้อมูลที่จะต้องใช้ในการวางแผนการสอน จึงสรุปความหมายได้ว่าการวางแผนการสอน คือ การเตรียมการสอนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางการสอนสำหรับครู อันจะช่วยให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลที่ผู้สอนต้องเตรียมในการวางแผนการสอน ได้แก่
1. การกำหนดจุดประสงค์
2. การคัดเลือกเนื้อหา
3. การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
4. การเลือกสื่อการเรียนการสอน
5. การวัดผลประเมินผล ผู้สอนควรได้จัดเตรียมข้อมูลเหล่านี้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน เพื่อประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติจริง

ความสำคัญของการวางแผนการสอน

1. ทำให้ผู้สอนสอนด้วยความมั่นใจ เมื่อเกิดความมั่นใจในการสอนย่อมจะสอนด้วยความแคล่วคล่อง เป็นไปตามลำดับขั้นตอนอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว การสอนก็จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางอย่างสมบูรณ์

2. ทำให้เป็นการสอนที่มีคุณค่าคุ้มกับเวลาที่ผ่านไป เพราะผู้สอนสอนอย่างมีแผน มีเป้าหมาย และมีทิศทางในการสอน มิใช่สอนอย่างเลื่อนลอย ผู้เรียนก็จะได้รับความรู้ ความคิด เกิดเจตคติ เกิดทักษะ และเกิดประสบการณ์ใหม่ตามที่ผู้สอนวางแผนไว้

3. ทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามหลักสูตร ทั้งนี้เพราะในการวางแผนการสอน ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรทั้งด้านจุดประสงค์การสอนเนื้อหาสาระที่จะสอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน และการวัดผลประเมินผล แล้วจัดทำออกมาเป็นแผนการสอน เมื่อผู้สอนสอนตามแผนการสอน ก็ย่อมทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามจุดหมายและทิศทางของหลักสูตร

4. ทำให้การสอนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการสอนที่ไม่มีการวางแผนเนื่องจากในการวางแผนการสอนผู้สอนต้องวางแผนอย่างรอบคอบในทุกองค์ประกอบของการสอน รวมทั้งการจัดเวลา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยสะดวกและง่ายดายขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการวางแผนการสอนที่รอบคอบและปฏิบัติตามแผนการสอนที่วางไว้ ผลของการสอนย่อมสำเร็จได้ดีกว่าการไม่ได้วางแผนการสอน

5. ทำให้ผู้สอนมีเอกสารเตือนความจำ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นแนวทางในการทบทวนหรือการออกข้อทดสอบเพื่อวัดผลประเมินผผู้เรียนได้ นอกจากนี้ทำให้ผู้สอนมีเอกสารไว้ให้แนวทางแก่ผู้ที่เข้าสอนแทนในกรณีจำเป็น เมื่อผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนเองได้ ผู้เรียนจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ต่อเนื่องกัน

6. ทำให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน ทั้งนี้เพราะผู้สอน สอนด้วยความพร้อม เป็นความพร้อมทั้งทางด้านจิตใจ และความพร้อมทางด้านวัตถุ ความพร้อมทางด้านจิตใจคือความมั่นใจในการสอน เพราะผู้สอนได้เตรียมการสอนมาอย่างรอบคอบ ส่วนความพร้อมทางด้านวัตถุคือ การที่ผู้สอนได้เตรียมเอกสารหรือสื่อการสอนไว้อย่างพร้อมเพียง เมื่อผู้สอนเกิดความพร้อมในการสอน ย่อมสอนด้วยความกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในบทเรียน อันส่งผลให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน

ลักษณะการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าจะต้องสอนอะไร สอนอย่างไร สอนเมื่อใด ใช้เวลาเท่าใด ใช้อะไรประกอบการสอนบ้าง และวัดผลประเมินผลอย่างไร ดังนั้นในการวางแผนการสอนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว จึงต้องจัดทำเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1. จัดทำเป็นกำหนดการสอน
ขั้นตอนที่ 2. จัดทำเป็นแผนการสอน

ในขั้นแรกผู้สอนต้องจัดทำกำหนดการสอนก่อน โดยวิเคราะห์เนื้อหาสาระจากคำอธิบายรายวิชา เมื่อจัดทำกำหนดการสอนแล้ว จึงนำกำหนดการสอนมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนการสอน ดังนั้นผู้สอนจึงควรได้ทราบลักษณะของกำหนดการสอน และแผนการสอนซึ่งมีดังนี้

กำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นเอกสารสำคัญที่ครูทุกคนจะต้องใช้เป็นหลักในการวางแผนการสอน จัดเป็นการวางแผนการสอนระยะยาวตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาโดยไม่มีรายละเอียดมากนัก

ความหมายของกำหนดการสอนหรือโครงการสอน
กำหนดการสอน คือ แผนงานการสอนหรือโครงการสอน ที่จัดทำขึ้นจากหลักสูตรและคู่มือครู หรือแนวการสอนของกรมวิชาการ โดยกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญ จำนวนคาบ เวลาและสัปดาห์ที่สอนไว้ตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าตลอดภาคเรียนนั้น ในแต่ละสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใดบ้าง จัดกิจกรรมข้อใดและในเวลากี่คาบ

ความสำคัญของกำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นการวางแผนระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำให้เสร็จก่อนเริ่มเปิดภาคเรียนหรือปีการศึกษาใหม่ เพราะกำหนดการสอนมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. เป็นแนวทางในการทำแผนการสอนของครู กล่าวคือ การจัดทำแผนการสอนจำเป็นต้องดูกำหนดการสอนเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะกำหนดการสอนจะบ่งให้ทราบว่า ในแต่ละวันของสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใด กิจกรรมข้อใด ผู้สอนก็จะทำแผนการสอนของเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละวันแต่ละวันแต่ละวิชาได้ถูกต้องตรงกันกับกำหนดการสอน
2. ทำให้ครูได้เห็นแผนงานการสอนระยะยาว ได้ทราบเนื้อหาที่จะต้องสอนตลอดภาคเรียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวและการวางแผนทำงานตลอดภาคเรียนหรือตลอดปีการศึกษา
3. เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหารของโรงเรียนในการวางแผนงานบริหารด้าน วิชาการของโรงเรียน เช่น การวางแผนจัดทำตารางสอน จัดครูเข้าสอน จัดเตรียมเอกสาร จัดเตรียมวันสอบกลางภาค สอบปลายภาค จัดเตรียมสื่อการสอน เตรียมห้องสมุด เตรียมห้องเรียน เตรียมการใช้อาคารสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น

แผนการสอน

เมื่อผู้สอนทำกำหนดการสอนเสร็จแล้ว ก็จะนำมาเป็นกำหนดการเขียนแผนการสอน โดยเขียนรายละเอียดของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปใช้จริง ผู้สอนจึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบของแผนการสอน

แผนการสอน คือ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน การวัดผลประเมินผลให้สอดคล้องกับเนื้อหาและจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร การนำวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์ที่จะต้องทำการสอนตลอดภาคเรียนมาสร้างเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อ อุปกรณ์การสอน และการวัดผลประเมินผล โดยจัดเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนย่อยๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือจุดเน้นของหลักสูตร สภาพของผู้เรียน ความพร้อมของโรงเรียนในด้านวัสดุอุปกรณ์ และตรงกับชีวิตจริงในห้องเรียน


ความสำคัญของแผนการสอน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผลของการปฏิบัติภารกิจต่างๆ จะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการวางแผนเป็นสำคัญ ถ้ามีการวางแผนดีผลที่ได้รับมักสำเร็จลงด้วยดีเสมอ ดังนั้นนักบริหารและบุคคลต่างๆ ที่ ได้รับความสำเร็จในอาชีพของตน มักมีการเตรียมการล่วงหน้าหรือวางแผนกันอย่างรอบคอบ ในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอนก็เช่นกัน ครูที่ดีจะต้องสละทั้งเวลา กำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิด เพื่อวางแผนก่อนสอนและเตรียมบทเรียนแต่ละบทอย่างรอบคอบ ไม่ว่าบทเรียนนั้นจะใช้เวลาในการสอนเพียงชั่วโมงเดียว หรือหลายชั่วโมง ทั้งนี้เพราะการทำแผนการสอนนั้นเพื่อต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ครูที่ใช้แผนการสอนซึ่งได้ตระเตรียมไว้แล้วอย่างรอบคอบและรัดกุม ย่อมจะมีผลทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และการสอน เป็นไปตามกำหนดระยะเวลา ในทางตรงกันข้ามกับครูที่สอนโดยไม่มีแผนการสอน การสอนจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของบทเรียน ผู้เรียนมักไม่เกิดการเรียนรู้ การสอนมักไม่เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาและไม่ทันตามหลักสูตร

องค์ประกอบของแผนการสอน
1. กำหนดวัตถุประสงค์ของบทเรียน
2. พิจารณาเนื้อหาวิชา
3. เลือกวิธีสอนที่เหมาะสม (กิจกรรมการเรียนการสอน)
4. กำหนดรูปแบบของแผนการสอน
5. เรียงลำดับบทเรียน
6. เลือกหลักฐานสนับสนุนที่เหมาะสม
7. เตรียมการนำเข้าสู่บทเรียนและการลงท้ายบทเรียน
8. เตรียมโครงร่างครั้งสุดท้าย
9. การวัดและการประเมินผล


1. กำหนดวัตถุประสงค์ของบทเรียน

การเขียนวัตถุประสงค์ของบทเรียนประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ประการคือ
- เน้นตัวผู้เรียน คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
พุทธิพิสัย (Cognitive) คือ จุดประสงค์ที่เน้นความสามารถทางสมอง (Head) ความรู้ใน
เนื้อหา และ ทฤษฎี
ทักษะพิสัย (Skill) คือ จุดประสงค์ที่เน้นความสามารถทางปฏิบัติ (Hand)
จิตพิสัย (Affective) คือ จุดประสงค์ที่เน้นคุณธรรม และจิตใจ (Heart
- บอกระดับการเรียนรู้ (รู้ เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือประเมินค่า)
- บอกเรื่องที่จะสอน โดยบอกให้ชัดเจนถึงเรื่องที่จะสอนในครั้งนั้นหรือชั่วโมงนั้น
- กำหนดความมุ่งประสงค์ ให้บอกว่าในการสอนบทเรียนครั้งนั้นมีความ
มุ่งประสงค์ อย่างไร
กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ทำไมผู้เรียนจึงต้องเรียนรู้บทเรียนนั้น หรือเรียนรู้บทเรียนนั้น เพื่อประโยชน์อะไร

2. พิจารณาเนื้อหาวิชา
หลังจากที่ครูได้เขียนหรือเตรียมวัตถุประสงค์ของบทเรียนที่จะสอน ต่อจากนั้นครูก็เริ่มพิจารณาเนื้อหาวิชาว่าจะต้องสอนกี่หัวข้อ และเตรียมหารายละเอียดของเนื้อหาวิชาก่อน แล้วจึงจะเขียนวัตถุประสงค์ของบทเรียนที่ถูกต้อง ในการพิจารณาเนื้อหาวิชาที่จะนำมาใช้สอนนั้น จะต้องคำนึงถึงว่ามันสัมพันธ์หรือสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือไม่ ก่อนอื่นครูจะต้องพิจารณาเองเสียก่อนว่า มีความรู้ในเรื่องที่จะสอนเพียงใด จากการสำรวจตนเองแล้วนั้น จะเป็นเครื่องชี้บ่งว่าครูควรจะต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง แต่ก็มีข้อควรระลึกถึงอยู่เสมอก็คือ เรื่องคุณภาพ ต้องพิจารณาถึงความถูกต้อง ความทันสมัย ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความสัมพันธ์ของเนื้อหาวิชา เช่น การที่ครูอ้างอิงเอกสารตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๐ มาอภิปรายหรือใช้สอนในปัจจุบัน ครูต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเนื้อหาวิชาเรื่องนั้นได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดบ้างหรือไม่ อาจจะมีเอกสารอ้างอิงพิมพ์ออกมาใหม่ๆ อีกก็ได้


3. เลือกวิธีสอนที่เหมาะสม(กิจกรรมการเรียนการสอน) ที่เหมาะสม

ในกระบวนการเลือกวิธีสอน มีปัจจัยสำคัญ ๆ ที่จะต้องพิจารณาประกอบดังนี้.
สิ่งที่กำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ ไม่ว่าจะเลือกวิธีสอนแบบใด ครูต้องไม่ลืมว่า อะไรคือสิ่งที่ครูต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในการสอนครั้งนั้น ซึ่งจะเป็นเครื่องเตือนครูให้เลือกวิธีสอนได้เหมาะสม

กิจกรรมที่ผู้เรียนยอมรับหรือสามารถปฏิบัติได้ กิจกรรมที่ครูให้ผู้เรียนกระทำเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ดังนั้นครูต้องพิจารณาว่ากิจกรรมนั้นเป็นที่ยอมรับหรือผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้หรือไม่

วิธีสอนที่เหมาะสม การที่จะกล่าวว่าวิธีสอนใดเป็นวิธีสอนที่เหมาะสมนั้น มีข้อพิจารณาดังนี้
- เหมาะสมกับผู้สอน - เหมาะสมกับเวลาและอุปกรณ์การสอน
- เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา - ให้ประสบการณ์ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน
- เหมาะสมกับผู้เรียน

ครูควรพิจารณาถึงกิจกรรมที่ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติเป็นสำคัญ เพราะต้องการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มิใช่สอนตามใจครู สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นี้จะเป็นเครื่องกำหนดวิธีสอนว่า ครูควรจะเลือกวิธีสอนวิธีใด บทบาทของครูจึงมีหน้าที่เลือกกิจกรรมที่เป็นผลให้เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน


4. กำหนดรูปแบบของแผนการสอน
การวางแผนการสอนที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบการสอนทั้งมวล จะเป็นเครื่องช่วยให้การสอนมีคุณค่าและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ครูที่มีประสบการณ์ในการสอน จะใช้แผนการสอนที่เขียนไว้แล้วนั้นเพื่อ
จุดประสงค์หลายประการด้วยกัน

- แผนการสอนจะเป็นจุดสำรวจเพื่อเป็นหลักประกันว่าได้ดำเนินการสอนไปตามแผนที่วางไว้และได้ผลดีหรือไม่
- ได้จัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ไว้ดีเพียงใด ใช้เป็นแนวทางในขณะทำการสอนด้วยตนเอง
- ใช้เป็นคู่มือหรือแนวทางให้แก่ครูคนอื่นที่อาจจะต้องมาทำการสอนแทนในกรณีฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย
- แผนการสอนยังเป็นเครื่องบันทึกเทคนิคและวิธีสอนของครูด้วย
- ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละขั้นตอนของครูนั่นเอง

การกำหนดเนื้อหาและรูปแบบของแผนการสอนนั้น เราจะพบว่าเนื้อหาและรูปแบบของแผนการสอนของแต่ละสถาบัน ย่อมจะแตกต่างกันออกไปตามความต้องการของผู้บริหารหรือของสถาบันนั้น อย่างไรก็ตามนักการศึกษาทั่วไปมีความเห็นว่า แผนการสอนที่ดีควรจะต้องประกอบด้วยลักษณะที่จำเป็น ที่จะเขียนไว้ประจำตามรายการต่อไปนี้

ส่วนประกอบหลัก
ข้อความ
ส่วนที่ ๑ แผ่นปก
- หลักสูตร ชั้น ชื่อบทเรียน
- ชื่อครู
- วิธีสอน
- วัตถุประสงค์ของบทเรียน
- หัวข้อการสอนที่สำคัญหรือขั้นตอนการการปฏิบัติ
- หลักฐานอ้างอิง
- อุปกรณ์การสอน
- เอกสารแจกจ่าย
ส่วนที่ ๒ การสอน
- โครงร่างของเนื้อหา
- วิธีการถ่ายทอด
- การใช้อุปกรณ์การสอน
- ข้อวิจารณ์แผนการสอนหลังจากสอบแล้ว
ส่วนที่ ๓ การประเมินผล
- ข้อสอบ
- บันทึกผลการทำข้อสอบของผู้เรียน
- การวิเคราะห์ทางสถิติ
- บันทึกเกี่ยวกับการปรับปรุงข้อสอบ
ส่วนที่ ๔ เอกสารและอุปกรณ์ที่ใช้
- คู่มือหรือเอกสารแจกจ่าย
- การบ้าน (งานมอบ)
- การอ่านหนังสือล่วงหน้า (งานมอบ)
- เอกสารสนับสนุน
- อุปกรณ์การสอนที่ใช้
- ตำราที่ใช้

5. เรียงลำดับบทเรียน

หลังจากที่ได้ค้นคว้าวิจัยเนื้อหาวิชาที่จะสอน เลือกวิธีสอนที่เหมาะสมและกำหนดรูปแบบแผนการสอนที่จะใช้เสร็จแล้วขั้นต่อไปคือ การเรียงลำดับบทเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาวิชา บทเรียนส่วนมากจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การนำเข้าสู่บทเรียน เนื้อหาวิชา และการลงท้ายบทเรียน บทเรียน โดยทั่วไปครูควรจะเตรียมเนื้อหาวิชาของบทเรียน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญเสียก่อน ส่วนการนำเข้าสู่บทเรียนและการลงท้ายบทเรียนนั้นให้เตรียมภายหลัง ซึ่งกระทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ข้อควรพิจารณาประการแรกในการเรียบเรียงเนื้อหาวิชา คือควรให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน นอกจากนั้นการเรียงลำดับหัวข้อย่อยก็มีความสำคัญเช่นกัน การเรียงลำดับเนื้อหาวิชาและหัวข้อย่อยที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาของบทเรียนได้ดี ถ้าไม่ถือเอาความยาวของบทเรียนเป็นสำคัญแล้ว แผนการสอนส่วนใหญ่ในบทเรียนหนึ่งจะแบ่งออกเป็น ๒ - ๕ เนื้อหาวิชา โดยทั่วไปการเรียงลำดับบทเรียนหรือเนื้อหาวิชานั้น เรียงลำดับได้หลายแบบต่างๆ กัน เช่น แบบตามลำดับเวลา แบบตามลำดับสถานที่แบบปัญหาและการแก้ไข แบบเหตุและผล แบบข้อดี - ข้อเสีย หรือแบบตามลำดับหัวข้อสำคัญ เป็นต้น

6. เลือกหลักฐานสนับสนุนที่เหมาะสม

หลักฐานสนับสนุนคือเครื่องมือสำหรับขยายให้ชัดเจน พิสูจน์ แสดง เน้นให้เห็นความสำคัญ และเพิ่มเติมสิ่งที่จำเป็นในเรื่องที่ครูกำลังสอน หลักฐานสนับสนุนในการสอนแบ่งได้ ๗ ประเภท คือ

1. คำจำกัดความ (Definitions) ในการสอนบางครั้งครูต้องใช้ศัพท์เฉพาะทางวิชาการ ศัพท์บางคำอาจมีความหมายหลายความหมาย หรือคำย่อต่างๆ อาจจำเป็นจะต้องอธิบายความหมาย หรือคำจำกัดความของศัพท์เสียก่อน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถูกต้องตามหลักวิชานั้นๆ

2. ตัวอย่าง (Examples)
- ตัวอย่างสั้น เวลาครูจะใช้ควรใช้หลายๆ ตัวอย่าง เพื่อเน้นให้เข้าใจได้ดี และไม่เข้าใจผิดว่าเป็นกรณีเดียว
- ตัวอย่างยาว คือ ตัวอย่างที่ขยายความยาวออกไปในรายละเอียด ตัวอย่างนี้อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรืออาจสร้างขึ้นเอง โดยครูก็ได้ยกตัวอย่างยาวที่เห็นได้ชัดก็คือ นิทานต่างๆ เช่น นิทานอิสป หรือชาดกในพุทธศาสนา

3. การเปรียบเทียบ (Comparisons) การเปรียบเทียบเสมือนหนึ่งสะพานที่ครูทอดให้นักเรียนเดินจากสิ่งที่นักเรียนรู้แล้วไปยังสิ่งที่ไม่รู้


การเปรียบเทียบที่เป็นเรื่องจริงมี 2 อย่าง

- การเปรียบเทียบสิ่งของหรือเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เช่น เปรียบเทียบกองทัพสหรัฐกับกองทัพ โซเวียต เครื่องพิมพ์ดีดโอลิมเปียกับพิมพ์ดีดเรมิงตัน
- การเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่างกัน เช่น เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างลัทธิสังคมนิยมกับประชาธิปไตย
การเปรียบเทียบที่แต่งขึ้นเอง มีประโยชน์ในการต่อเติมเสริมแต่งการพูดหรือการสอนให้ออกรสยิ่งขึ้น มี 2 อย่างคือ
- การเปรียบเทียบอย่างสั้น (Metaphors) เรามักเรียกกันว่าอุปมาอุปมัย เช่น ตัวเธอช่างเบาเหมือนขนนก, ทหารระดมยิงราวกับห่าฝน, ขี่ช้างจับตั๊กแตน, งมเข็มในมหาสมุทร
- การเปรียบเทียบอย่างยาว เป็นการเปรียบเทียบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับเรื่องที่ครูกำลังสอน เช่น "ถ้าจะพูดถึงความงามของนางก็เกรงว่าถ้อยคำของข้าพเจ้าอาจหาญอยู่สักหน่อย เพราะถ้าจะกล่าวให้ท่านรู้สึกซึมซาบได้ดั่งหลับตาเห็น ข้าพเจ้าจะต้องเป็นมหากวีภารตเสียก่อน และถึงมีความสามารถปานนั้น ท่านก็จะเห็นความงามได้เพียงรางๆ เท่านั้น"

4. สถิติ (Statistics) คือ ระบบรวบรวมสิ่งของหรือเหตุการณ์หลายๆ สิ่ง หรือหลายเหตุการณ์ ถ้าหากมีการรวบรวมและนำมาใช้ประโยชน์อย่างฉลาดแล้ว จะมีประโยชน์มากในการสนับสนุนการสอนของครู สถิติจะมีคุณค่าอย่างไรขึ้นอยู่กับที่มาของข้อมูลสถิตินั้น ฉะนั้นการกล่าวอ้างสถิติควรแจ้งให้นักเรียนทราบและควรแปลความหมายหรือตีความสถิตินั้นๆ เสียก่อน

5. การกล่าวอ้างคำพูดข้อเขียน (Testimony) เป็นการนำเอาคำพูด ข้อเขียนของบุคคลสำคัญต่างๆ มาประกอบเข้ากันกับเรื่องที่ครูสอน การนำคำพูดหรือข้อเขียนควรจะอยู่ในเกณฑ์
- เป็นข้อความสั้น ๆ ถ้าเป็นข้อความที่ยาวเกินไปควรย่อให้สั้น แต่ต้องคงใจความไว้
- เข้ากับเรื่องที่ครูกำลังสอนหรือจะสอนต่อไป
- ควรเป็นของบุคคลสำคัญ บุคคลน่าเชื่อถือ บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

6. อุปกรณ์การสอน (Visual Support) อุปกรณ์การสอนมีมากมาย เช่น ของจริง หุ่นจำลอง ชาร์ท กร๊าฟ รูปภาพ สไลด์ ฯลฯ ซึ่งครูจะเลือกนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสม การใช้อุปกรณ์การสอนมีหลักการกว้าง ๆ เช่น

- ต้องแน่ใจว่าอุปกรณ์นั้นมีขนาด เหมาะสม นักเรียนมองเห็นได้อย่างทั่วถึง
- ขณะสอน ครูต้องสอนให้นักเรียนดูอุปกรณ์การสอน มิใช่ครูดูเสียเอง
- เมื่อจะใช้จึงนำมาใช้ ถ้าเลิกใช้ก็เก็บให้เรียบร้อย
- อุปกรณ์ต้องชัดเจน
- ครูต้องเข้าใจอุปกรณ์ของตนเป็นอย่างดี อุปกรณ์ต้องไม่ซับซ้อนดูเข้าใจง่าย
- ถ้าจะใช้พวกเครื่องฉายภาพ ควรเตรียมคนไว้ฉาย ครูจะได้ไม่ต้องเสียเวลา
- อุปกรณ์การสอนเป็นเครื่องช่วยสอนเท่านั้น ฉะนั้นอย่าให้อุปกรณ์การสอนเป็นครูสอนเสียเอง
- สิ่งที่ปรากฏบนอุปกรณ์ต้องถูกต้อง แน่นอน
- ถ้ามีหนังสือประกอบ ครูต้องอธิบายไม่ใช่อ่าน

7. เตรียมการนำเข้าสู่บทเรียนและการลงท้ายบทเรียน

เมื่อเวลาเข้าไปทำการสอนจริงๆ ครูจะเริ่มต้นและลงท้ายบทเรียนอย่างไรจึงจะเหมาะสม ถ้าบทเรียนนั้นเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนติดต่อกันหลายตอน และบทเรียนที่จะสอนครั้งนั้นไม่เป็นตอนแรก ครูอาจจะพิจารณาใช้การกล่าวขั้นต้นหรือการนำเข้าสู่บทเรียนมีน้อยกว่าปกติ และถ้ามีบทเรียนอื่นๆ ตามมาในตอนเดียวกัน ครูก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวลงท้ายบทเรียนอย่างกว้างขวางมากนัก แต่ถ้าเป็นบทเรียนเดียวไม่ต่อเนื่องกับวิชาอื่น หรือชั่วโมงอื่น ครูจำเป็นต้องให้ความสนใจในการเตรียมการ กล่าวนำเข้าสู่บทเรียน และการลงท้ายบทเรียนเป็นพิเศษ
การนำเข้าสู่บทเรียน แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ.
- ขั้นเรียกความสนใจ
- ขั้นกระตุ้นให้อยากเรียน
- ขั้นบอกเนื้อหาวิชา

1. ขั้นเรียกความสนใจ
ครูอาจจะเรียกความสนใจได้หลายวิธีด้วยกัน โดยการนำเอาทักษะการนำเข้าสู่บทเรียนที่ได้ศึกษามาแล้วมาใช้ ในการนำเข้าสู่บทเรียนควรใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะกระตุ้นและเร้าใจผู้เรียนได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม และควรจะต้องให้สอดคล้องกับบทเรียนที่จะสอนด้วย ในขั้นนี้ผู้เรียนจะได้ทราบว่าใน ชม.นี้ครูจะสอนเรื่องอะไร โดยครูจะเป็นผู้บอกชื่อเรื่องหรือบทเรียนที่จะสอน และครูควรจะใช้สื่อประกอบการบอกชื่อเรื่องหรือบทเรียนด้วย เพื่อทำให้ผู้เรียนได้ทราบอย่างชัดเจน

2. ขั้นกระตุ้นให้อยากเรียน
ในขั้นกระตุ้นให้อยากเรียนนี้ ครูก็ควรบอกผู้เรียนให้ทราบถึงความมุ่งประสงค์ของบทเรียน คือประโยชน์ทางตรง ที่ผู้เรียนจะได้รับหลังจากครูจบการเรียนการสอนใน ชม.นี้ นอกจากนั้น ครูควรจะต้องบอกผู้เรียนให้ทราบถึงประโยชน์ทางอ้อมของบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้นอกเหนือจากประโยชน์ทางตรง


3. ขั้นบอกเนื้อหาวิชา
เมื่อผู้เรียนได้ทราบแนวทางในการเรียนการสอน ในตอนท้ายของขั้นกระตุ้นให้อยากเรียนแล้ว ต่อไปครูควรจะต้องบอกว่าเรื่องที่จะนำมาสอนในครั้งนี้ เนื้อหาวิชามีอะไรบ้าง ในการบอกเนื้อหาวิชาแต่ละหัวข้อนั้น ครูควรบอกอย่างชัดเจน ควรใช้สื่อประกอบการบอกเนื้อหาวิชา และควรเน้นสาระสำคัญของเนื้อหาวิชาแต่ละข้อ เช่น ขยายความแต่ละเนื้อหาวิชาอย่างย่อๆ เพื่อชวนให้ผู้เรียนอยากติดตามในรายละเอียดต่อไป
การลงท้ายบทเรียน
การลงท้ายบทเรียนที่ดี จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำหรือประทับใจผู้เรียนได้นาน ครูจึงควรเตรียมการลงท้ายบทเรียนล่วงหน้าด้วยความระมัดระวัง การลงท้ายบทเรียนนั้นมีความสำคัญอยู่แล้ว ถ้าครูพยายามใช้ให้มีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างยิ่ง การลงท้ายบทเรียนประกอบด้วย 3 ขั้นคือ
สรุปบทเรียน, ขั้นกระตุ้นซ้ำ, ขั้นจบบทเรียน

1. สรุปบทเรียน
รวบรวมใจความหรือเนื้อเรื่องที่สำคัญๆ ที่ครูต้องการจะให้ผู้เรียนรู้เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น โดยทั่วๆ ไปการสรุปบทเรียนจะทำหลังจากที่ครูสอนจบบทเรียนแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักทำกันอยู่ 2 แบบ คือ
- การสรุปเรื่องหรือใจความที่สำคัญเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ขึ้น ตลอดจนเป็นการเชื่อมความรู้เก่ากับใหม่เข้าด้วยกัน
- การสรุปแนวความคิดเห็นของผู้เรียนที่เกี่ยวกับการเรียนในแง่ที่เกี่ยวกับความสำเร็จในการเรียน ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรคที่ประสบในการเรียน เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้ ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
ลักษณะของการสรุปบทเรียนอาจจะสรุปได้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามที่ครูเห็นว่าเหมาะสม เช่น ครูสรุปเอง ผู้เรียนช่วยกันสรุป หรือครูถามคำถามเพื่อให้ ผู้เรียนตอบเพื่อเป็นการสรุป เป็นต้น

2. ขั้นกระตุ้นซ้ำ
อันที่จริงครูที่ดีจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจหรือติดตามการเรียนการสอนของครูอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ขั้นกระตุ้นซ้ำเป็นโอกาสสุดท้ายของครูที่จะเน้นย้ำให้ผู้เรียนได้เห็นประโยชน์ของบทเรียนตามความมุ่งประสงค์ของบทเรียนที่ได้กำหนดไว้นอกจากนั้นครูจะต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนทราบถึง
ประโยชน์ทางอ้อมของบทเรียน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ ขณะเดียวกันครูควรใช้ทักษะการเสริมกำลังใจ เพื่อให้ ผู้เรียนเห็นว่า เรื่องที่ได้เรียนไปแล้วนั้นเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถทำได้ เป็นต้น ต่อไปครูควรบอกแนวทางการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หากผู้เรียนสนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองหรือหาความชำนาญเพิ่มขึ้น

3. ขั้นจบบทเรียน
การจบบทเรียนที่ดีนั้น ควรให้สอดคล้อง นุ่มนวล และสร้างสรรค์กับเรื่องที่สอน และเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด และสับสน สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ในการจบบทเรียน ชวนให้ประทับอยู่ในความทรงจำ ซึ่งจะช่วยเสริมให้ผู้เรียนจดจำบทเรียนนี้ได้ดีขึ้น การจบบทเรียนที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ คำประพันธ์ สุภาษิต คำคม คำพูด หรือประโยคคำถามที่จะมีเนื้อความเกี่ยวกับเนื้อเรื่องโดยตรง หรือเป็นคำพูดที่มีความหมายในเชิงท้าทาย ให้ผู้ฟังเก็บไปคิดเป็นการบ้านหรือทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ ยากที่จะลืมเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง


8. การเตรียมโครงร่างครั้งสุดท้าย
หลังจากที่ได้พิจารณาเนื้อหาวิชา เลือกวิธีสอนที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบของแผนการสอนที่จะใช้ จัดเรียงลำดับเนื้อหาวิชา เลือกหลักฐานสนับสนุนและได้ตกลงใจว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนด้วยวิธีใดแล้ว ครูก็พร้อมที่จะเตรียมเขียนแผนการสอนได้แล้ว ครูอาจจะเตรียมเขียนแผนการสอนทั้งสองแบบ แบบแรกจะเป็นแบบที่สมบูรณ์ชนิดที่ใช้เป็นต้นฉบับได้ เนื่องจากอาจจะต้องกลับมาสอนอีกในหลายสัปดาห์ หลายเดือนต่อมา หรือในกรณีที่มีกิจธุระจำเป็นมาสอนไม่ได้ เมื่อครูอื่นมาสอนแทน จะได้ใช้แผนการสอนนี้ได้ ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นแบบสั้นๆ อาจจะยาวเพียงหน้ากระดาษเดียว หรืออาจจะเขียนในกระดาษแผ่นเล็กๆ ซึ่งครูสามารถนำติดตัวเข้าไปในชั้นเรียน และใช้เป็นแนวสอนได้ ซึ่งเป็นโครงร่างของแผนการสอนแบบสั้นๆ แบบนี้ นี้ถือเป็นเสมือนโครงร่างข้อความสำคัญ ซึ่งในโครงร่างแบบนี้จะมีเฉพาะถ้อยคำที่สำคัญๆ ซึ่งจะช่วยเตือนครูให้ระลึกถึงเนื้อหาวิชาของบทเรียน


9. การประเมินผล
การตรวจสอบว่าผู้เรียนมีพฤติกรรม หรือลักษณะพึงประสงค์ ตามจุดประสงค์การเรียนรู้มากน้อยเพียงใด บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้แต่ต้นหรือไม่ และระดับใด

**ในส่วนของตัวอย่างจะนำไปให้ดูในคาบนะครับเพื่อนๆ เพราะตัวอย่างมันเยอะมาก